

เบื้องหลังการจัดงาน DEEP TECH 2017
ก่อนจะเป็น Deep Tech 2017 โดย คณะสถิติประยุกต์ ม.นิด้า และ rgb72Read 18 secondsAug 27, 2017
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปนั่งคุยจิบกาแฟกับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทระดับประเทศ “มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์”
พูดถึงบริษัท มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ เราอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงชื่อสินค้าที่มาจากบริษัทนี้ต้องบอกว่า “ไม่มีใครไม่รู้จัก” เพราะด้วยภาพลักษณ์การสร้างแบรนด์ที่แตกต่างและน่าจดจำ ทำให้ยากจะลืมนั่นคือ..
เฌอร่า
ใช่ครับ เฌอร่า หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ “ไม้ฝาเฌอร่า” นั่นล่ะ
ความตั้งใจเดิมที่ไปพูดคุยกับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ คุณประกรณ์ เมฆจําเริญ คือรางวัล 6 ปีซ้อนที่เฌอร่าได้รับความนิยมเป็นวัสดุทดแทนไม้ที่น่าเชื่อถือที่สุด เป็น Thailand’s Most admired brand โดย BrandAge ตั้งแต่ปี 2012–2017 ซึ่งเหตุที่ไปคืออยากรู้ว่า ทำธุรกิจอย่างไรถึงทำให้คนชื่นชม และเอาชนะคู่แข่งระดับเล็กและใหญ่ได้ถึง 6 ปีต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ได้รับหลังจาก 2 ชั่วโมงของการสนทนาคือ การที่ได้รู้ว่า เฌอร่า เป็นบริษัทนวัตกรรม!!
บริษัทนวัตกรรม?? เทคโนโลยี? มือถือ? อุปกรณ์ไฮเทค?
ไม่.. ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การเป็นบริษัทนวัตกรรมคือการนำเอาเทคโนโลยี หรือ ค้นคว้าหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดธุรกิจ
คอนเซ็ปที่ว่านี้คุ้น ๆ เหมือนจะเป็นความหมายของ Thailand 4.0 !?
ถ้า Thailand 4.0 คือการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดธุรกิจ เฌอร่าคือบริษัทที่ทำเช่นนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว!
ใช่.. 30ปี
ย้อนกลับไปเมื่อ 30ปี ที่แล้ว เฌอร่าเคยเป็นผู้ผลิต “หลังคาห้าห่วง” แต่ด้วยความคิดที่ต้องการเป็นผู้นำ ต้องการสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ จึงได้สร้างทีมค้นคว้า และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ “ไม้ฝาเฌอร่า” นั่นเอง
ภายใต้การนำของคุณองเอก เตชะมหพันธ์ ทำให้คนไทยเราที่เดิมสร้างบ้านด้วยการก่ออิฐ ฉาบปูน หรือใช้ไม้จริง แต่ด้วยนวัตกรรมไม้ฝา ทำให้การสร้างบ้านเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ติดตั้งง่าย และมีมาตรฐาน
เรื่องที่เราสนใจถามจึงกลายเป็นเรื่องของ “นวัตกรรม” ว่า มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ มีการพัฒนาองค์กรอย่างไรให้เป็นองค์กรนวัตกรรม!?
ซึ่งได้ข้อสรุปมา 5 ข้อน่าสนใจดังนี้..
ผมถามคุณประกรณ์ว่าทำไมมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ต้องคิดนวัตกรรมเองทั้ง ๆ ที่ ณ เวลานั้นเราไม่น่าจะเป็นเจ้าแรกที่คิดจะทำ “ไม้เสมือน” เป็นเจ้าแรกของโลก?
คุณประกรณ์ตอบว่า ถ้าเราไปซื้อเทคโนโลยีคนอื่นมาคงตอบโจทย์เรื่องความง่ายและสำเร็จรูป แต่ไม่ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน
เมื่อเราต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจตลอดเวลา ธุรกิจของบริษัทขึ้นอยู่กับคนอื่น วันหนึ่งเค้าจะบีบเราอย่างไรก็ได้ จัดการเราอย่างไรก็ได้ นี่ไม่ใช่วิธีการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเองแม้จะใช้เวลานาน ยาก แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทที่มองถึงอนาคตในอีกหลายสิบปี
“สินค้าอย่างไม้ฝาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทุกปีบริษัทจะตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ออกมาตลอดเวลา”
คำพูดของคุณประกรณ์ทำให้ผมนึกถึงภาพ iPhone “ไม้ฝาก็ไม่ต่างอะไรกับ iPhone นะครับ ที่ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา” ผมถาม
คุณประกรณ์เห็นด้วย และพูดต่อว่า การทำสินค้าต้องไม่หยุดนิ่ง และต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ
ในช่วงแรกของการทำไม้ฝา เฌอร่าใช้แร่ใยหิน แต่ไม่นานนักเมื่อมีผลการวิจัยพบว่า แร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจจะเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ทางเฌอร่าจึงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกร่วมปีเพื่อหาวัตถุดิบใหม่มาทดแทน ซึ่ง “ไฟเบอร์” คือคำตอบที่ดีที่สุด
ดีที่สุดสำหรับลูกค้า.. แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับเฌอร่า
เพราะไฟเบอร์ วัตถุดิบใหม่ที่เลือกใช้มีต้นทุนสูงกว่าแร่ใยหินเดิมถึง 30% แน่นอนว่าทำให้มีผลต่อยอดขายและกำไร แต่ที่น่าประทับใจคือการมีส่วนช่วยให้ทั้งพนักงานในโรงงานของมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์เอง และช่างในงานก่อสร้าง ปลอดภัยจากสารพิษ
การรับผิดชอบต่อสังคมไม่เพียงแต่จะทำเพื่อสังคมเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในเบื้องหลังที่ช่วยผลักดันให้ต้องสร้างและคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย
จะสร้างนวัตกรรมได้ต้องมี professional ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ แน่นอนว่าการจะพัฒนาสิ่งใหม่ได้ จำเป็นที่บริษัทต้องมีคนที่รู้จริง คนที่เป็นมืออาชีพ
อย่างไรก็ตาม แม้แต่มืออาชีพก็ต้องมีพลาด!
ผมถามคุณประกรณ์ว่า ที่ผ่านมาเคยทำนวัตกรรมอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จบ้าง?
คุณประกรณ์ตอบว่า “มีเยอะเลย!”
“แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องไม่ลงโทษคนที่ทำผิด! เพราะถ้าเราลงโทษคนที่ทำผิดพลาด ต่อไปจะไม่มีใครกล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ ทุกคนจะอยู่ใน comfort zone ของตัวเอง คือไม่คิดใหม่ก็ไม่ผิด ไม่ผิดก็ไม่โดนทำโทษ เป็นธรรมดาที่งานนวัตกรรมจะต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้น”
“แต่สำคัญกว่าความผิดพลาดคือ เราจำข้อผิดพลาดนั้นได้หรือไม่ และต้องไม่พลาดในเรื่องเดิม ซ้ำ ๆ”
หลายครั้งที่บริษัทคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ แต่นวัตกรรมเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่สามารถนำสิ่งใหม่ ๆ ที่ได้ไปสร้างมูลค่า
ดังนั้นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมจึงต้องเริ่มต้นจาก “ความต้องการของลูกค้า” สังเกต และหา “Need”
ยกตัวอย่างเช่น ไม้ฝา ก่อนหน้านี้ผู้คนใช้ไม้ธรรมดา แม้มันจะสวยงามและมีราคา แต่ไม้ก็มีข้อเสีย เช่น ปัญหาเรื่องปลวกกินไม้ ปัญหาไม้บิด งอ ไม่ทนน้ำ หรือแม้แต่การเป็นเชื้อไฟ
เมื่อเล็งเห็นถึงปัญหา ก็จะพบความต้องการของลูกค้า ถ้าบริษัทสามารถสร้างนวัตกรรมผลิตไม้ทดแทนที่ทนน้ำ กันไฟ ไม่บิด งอ และง่ายต่อการติดตั้งใช้งานแล้วล่ะก็ บริษัทจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและเป็นที่ต้องการของลูกค้า ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่า